ไขมันในช่องท้อง (Visceral Fat)
ไขมันในช่องท้อง
สามารถเกิดขึ้นได้จากการที่ร่างกายรับสารอาหารประเภทไขมันเข้าสู่ร่างกายจำนวนมาก และร่างกายไม่สามารถเผาผลาญได้หมดในแต่ละวัน ไขมันในส่วนนี้ก็จะเข้าไปแทรกซึมเกาะติดอยู่ภายในระหว่างอวัยวะต่าง ๆ และกล้ามเนื้อหน้าท้อง ซึ่งกันนับว่าเป็นไขมันใต้ผิวหนังชนิดหนึ่ง ยิ่งผ่านไปนาน ๆ ไขมันชนิดนี้ก็จะมีความแข็งตัวมากยิ่งขึ้น และจะดันให้หน้าท้องป่องออกมา
บางคนที่ดูรูปร่างผอมบางแต่กลับลงพุง ในขณะที่บางคนี่รูปร่างใหญ่กลับหน้าท้องกลับแบนราบนั่นก็สามารถบ่งบอกได้ระดับหนึ่งแล้วว่า ไขมันในช่องท้องสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนผอม หรือคนอ้วน สาเหตุสำคัญอีกประการที่ทำให้เกิดภาวะไขมันในช่องท้อง นอกจากเรื่องของการทานอาหารที่มากกว่าพลังงานที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับ ก็คือเรื่องของการไม่ชอบออกกำลังกาย ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย ในทางการแพทย์พบว่ากลุ่มคนเหล่านี้ถึงแม้จะทานอาหารน้อย แต่ก็ยังมีโอกาสพบภาวะไขมันในช่องท้องได้ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถเผาผลาญพลังงานได้หมดนั่นเอง
อีกทั้งไขมันชนิดนี้จะสะสมอยู่ลึกกว่าชั้นผิวหนัง โดยอยู่ในช่องท้อง รอบอวัยวะภายในร่างกาย เช่น กระเพาะอาหาร ตับ หรือลำไส้เล็ก ไขมันชนิดนี้อยู่ใกล้ตับมาก ซึ่งตับอาจเปลี่ยนไขมันนี้เป็นคอเลสเตอรอล รวมทั้งอาจดูดซึมเข้ากระแสเลือดและสะสมตามผนังหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดตีบ ไขมันช่องท้องก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ผู้ที่มีรอบเอวหรือหน้าท้องใหญ่มากถือว่ามีไขมันในช่องท้อง ทำให้เสี่ยงเป็นเบาหวาน, โรคหัวใจ, หลอดเลือดในสมอง หรือสมองเสื่อม ทั้งนี้ ไขมันในช่องท้องยังทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) โดยทำให้ร่างกายไม่สามารถนำอินซูลินมาใช้ได้ตามปกติ ซึ่งกระตุ้นให้เสี่ยงเป็นเบาหวานได้
เราสามารถตรวจสอบด้วยตัวเองได้ในเบื้องต้นว่า เรากำลังมีภาวะไขมันในช่องท้องเยอะเกินไปหรือเปล่า โดยการใช้สายวัดในการวัดสัดส่วน อันดับแรกก็ให้วัดรอบเอวก่อน (ส่วนที่คอดที่สุดของหน้าท้อง) โดยใช้หน่วยวัดเป็นเซนติเมตร และก็วัดสะโพก นำตัวเลขวัดรอบเอว มาหารด้วยตัวเลขที่วัดรอบสะโพก จะได้ตัวเลขทศนิยม 2 ตำแหน่ง วิธีการวัดแบบนี้เรียกว่า Waist-to-Hip Ratio Measurement เป็นวิธีที่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การยอมรับ
- ในผู้หญิง ถ้าหากได้ค่ามากกว่า 0.80 แปลว่ามีไขมันในช่องท้องมาก
- ในผู้ชาย หากได้ค่ามากกว่า 0.95 แปลว่ามีไขมันในช่องท้องมาก
เราสามารถลดไขมันในช่องท้องได้หลายวิธี
- เพิ่มการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ
ควรออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที เช่น เดินเร็วในระดับที่เหงื่อออกและอัตราการเต้นของหัวใจเร็วกว่าปกติ เพื่อลดการเกิดไขมันในช่องท้อง
- ออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อ
การออกกำลังกายชนิดนี้ช่วยลดไขมันได้ ควรออกกำลังฝึกกล้ามเนื้อสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละครึ่งชั่วโมง ทั้งนี้ ควรออกกำลังบริหารกล้ามเนื้อทุกส่วน ผู้หญิงที่ต้องการลดไขมันและไม่ต้องการให้กล้ามเนื้อใหญ่ขึ้น ควรออกกำลังฝึกกล้ามเนื้อแต่ละส่วนในท่าต่าง ๆ ให้ได้ประมาณ 12-15 ครั้ง โดยตั้งเป้าหมายไปที่จำนวนการบริหารแต่ละท่าที่เพิ่มขึ้น มากกว่าการเพิ่มน้ำหนักของอุปกรณ์ที่ใช้ฝึก ส่วนผู้ชายที่ต้องการลดไขมันควรบริหารกล้ามเนื้อแต่ละท่าให้ได้ประมาณ 8-12 ครั้ง รวมทั้งเพิ่มน้ำหนักอุปกรณ์ที่ใช้ฝึกอยู่เสมอ
- ควบคุมอาหาร
ผู้ที่มีไขมันส่วนเกินบริเวณหน้าท้องควรจำกัดการบริโภคไขมันและอาหารที่ให้พลังงานสูง โดยรักษาระดับไขมันที่ได้จากพลังงานทั้งหมดให้อยู่ที่ร้อยละ 20-30 รับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวให้น้อยกว่าร้อยละ 7 รวมทั้งจำกัดปริมาณไขมันทรานส์ (Trans Fat) เช่น รับประทานไขมันไม่เกิน 77 กรัม (หรือได้รับพลังงานจากไขมันไม่เกิน 700 แคลอรี่ ของพลังงานทั้งหมด 2,000 แคลอรี่) และรับประทานไขมันอิ่มตัวประมาณ 15 กรัม (หรือได้รับพลังงานจากไขมันอิ่มตัวไม่เกิน 140 แคลอรี่ ของพลังงานทั้งหมด 2,000 แคลอรี่) โดยไขมันอิ่มตัวมักพบในอาหารจำพวกผลิตภัณฑ์เนยนม เนื้อสัตว์ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม รวมทั้งขนมและของหวานต่าง ๆ
- นอนหลับพักผ่อน
ควรให้ร่างกายพักผ่อนอย่างเพียงพอ โดยนอนหลับให้สนิท งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ทำการศึกษาประเด็นดังกล่าว พบว่าผู้ที่นอนหลับวันละ 6-7 ชั่วโมง มีระดับไขมันในช่องท้องที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าผู้ที่นอน 5 ชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้น อีกทั้งยังมีระดับไขมันในช่องท้องน้อยกว่าผู้ที่นอนมากกว่า 8 ชั่วโมง
- ควบคุมความเครียด
การรับมือที่ดีกับความเครียดที่เจอในชีวิตประจำวันนั้นส่งผลดีต่อสุขภาพและช่วยให้มีร่างกายและจิตใจที่พร้อมทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การผ่อนคลายความเครียดมีหลายวิธี เช่น หาที่ปรึกษา ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวหรือเพื่อน นั่งสมาธิ หรือออกกำลังกาย
ที่มา : กองบรรณาธิการ HONESTDOCS